พุธที่ 30 ตุลาคม 2562 เวลา 09.07 น. เดลินิวส์

นายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว และนายวิลเบอร์ รอสส์ รมว.กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ จะร่วมกันทำหน้าที่ผู้แทนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงเทพฯ ในช่วงต้นเดือนพ.ย. นี้
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ว่าทำเนียบขาวออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มอบหมายให้นายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ และนายวิลเบอร์ รอสส์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ นำคณะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลวอชิงตัน เยือนกรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 2 ถึง 4 พ.ย. นี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสหรัฐ-อาเซียน และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ( EAS ) ซึ่งการประชุมทั้งสองรายการเป็นหนึ่งในการหารือกลุ่มย่อยของการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) และปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพในฐานะประธานประจำปี
ทั้งนี้ นอกจากโอไบรอันและรอสส์แล้ว มีรายงานออกมาก่อนหน้านี้ว่า นายเดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย หมายความว่านายไมค์ ปอมเปโอ รมว.กระทรวงการต่างประเทศจะไม่เข้าร่วมการประชุมอาเซียนรอบนี้ แต่ปอมเปโอเข้าร่วมด้วยตัวเองในการประชุมอาเซียนระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ระหว่างปลายเดือนก.ค.ถึงต้นเดือนส.ค. ที่ผ่านมา
อนึ่ง นับตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อช่วงสิ้นเดือนม.ค. 2560 ทรัมป์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนด้วยตัวเองเพียงครั้งเดียว คือที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพในช่วงปลายปีเดียวกัน แต่ให้นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว.กระทรวงการต่างประเทศในตอนนั้น เข้าร่วมการประชุมอีเอเอสแทน ขณะที่รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ เป็นผู้แทนของทรัมป์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่สิงคโปร์ เมื่อปีที่แล้ว แตกต่างจากยุครัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งโอบามาเดินทางมาประชุมด้วยตัวเองทุกครั้ง ยกเว้นเมื่อปี 2556 ซึ่งส่งรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน มาแทน เนื่องจากโอบามาต้องอยู่แก้ปัญหาชัตดาวน์ที่ทำเนียบขาว
แม้การไม่มาของทรัมป์ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายมากนัก แต่น่าจะสร้างความผิดหวังให้กับอาเซียนไม่น้อย ที่กำลังกังวลกับการคืบคลานแผ่ขยายอิทธิพลของจีน แต่รัฐบาลไทยจะได้มีโอกาสพบกับรอสส์โดยตรง หลังทรัมป์สั่งระงับสิทธิพิเศษทางการค้า ( จีเอสพี ) สินค้าไทย “หลายร้อยรายการ” ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลไทย “ยังไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลได้” โดยสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 39,312 ล้านบาท ) จากมาตรการดังกล่าวที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 2563 หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถประนีประนอมกันได้ และสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ ( ยูเอสทีอาร์ ) ยืนยันว่า สินค้าอาหารทะเลทุกประเภทของไทยจะถูกระงับจีเอสพี.
CR: เดลินิวส์