แรงผลักดันจากการสนับสนุนของภาคเอกชนเพื่อเร่งการบูรณาการระดับภูมิภาคและจัดการกับความท้าทายของเอเปค

28 เมษายน 2022 แวนคูเวอร์, แคนาดา สำนักเลขาธิการเอเปค

ดร.รีเบคคา สตา มาเรีย (Rebecca Sta Maria) ผู้อำนวยการบริหารของสำนักเลขาธิการเอเปคกล่าวว่า “การผลักดันที่สำคัญจากภาคเอกชนทำให้เกิดทิศทางที่จำเป็นสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนและการผลักดันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ความครอบคลุม เศรษฐกิจดิจิทัล และความยั่งยืน”

ในระหว่างการเยือนแคนาดา ดร.สตา มาเรียได้บรรยายสรุปผู้นำธุรกิจของภูมิภาคเกี่ยวกับความคืบหน้าของเอเปค ตามคำแนะนำของสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก (the APEC Business Advisory Council: ABAC) เพื่อเตรียมรับกับชีวิตหลังโควิด-19 และสถาปัตยกรรมการค้าของภูมิภาคในอนาคต

“ในปีนี้ ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะรื้อฟื้นการอภิปรายของเราเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (the Free Trade Area of the Asia Pacific: FTAAP) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับพวกเราทุกคน แต่เป็นเรื่องระยะยาวสำหรับผู้กำหนดนโยบาย” ดร.สตา มาเรียกล่าวในการประชุม ABAC ครั้งที่ 2 ในวันพุธ (27 เม.ย. 2022)

“เราต้องร่วมมือกัน มีส่วนร่วมและไตร่ตรองอย่างจริงจังว่าจะครอบคลุมประเด็นการค้าและการลงทุนรุ่นต่อไปแบบใด ซึ่งรวมถึงสภาพแวดล้อมของแรงงาน เศรษฐกิจดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิกจะปรากฏในสถาปัตยกรรมปัจจุบันของข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคอย่างไร”

ดร.สตา มาเรียเน้นย้ำถึงความสำคัญของการผลักดันงานของเอเปค ในการเปิดพรมแดนอีกครั้งเพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยและราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทำงานร่วมกันและการยอมรับร่วมกันในเรื่องของใบรับรองวัคซีน ตลอดจนบัตรเดินทางเพื่อธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card) ที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นวาระสำคัญของประเทศไทยในฐานะ เจ้าภาพเอเปค 2022

ABAC เป็นตัวแทนของผู้นำทางธุรกิจจาก 21 สมาชิกเอเปค และขณะนี้กำลังประชุมกันที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ของปีเพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะด้านนโยบายสำหรับผู้นำเอเปค การเจรจาระหว่าง ABAC และรัฐมนตรีเอเปคจะจัดขึ้นในการประชุมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการค้าที่จะมีขึ้นในวันที่ 21-22 พ.ค. 2022 ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

ดร.สตา มาเรียย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำธุรกิจ นักวิชาการ และเยาวชน ในการสร้างความมั่นใจว่าการเติบโตหลังโควิด-19 จะมีความยั่งยืนและครอบคลุม และหารือกับองค์กรต่าง ๆ เกี่ยวกับวิธีเพิ่มการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนภายในเอเปค

“เอเปคเป็นตัวแทนของวิธีเฉพาะสำหรับสมาชิกเศรษฐกิจในการร่วมมือ ความสมัครใจ ไม่ผูกมัด และดำเนินการตามฉันทามติ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้กลุ่มเศรษฐกิจที่หลากหลายสามารถทำงานร่วมกันได้” ดร.สตา มาเรีย กล่าวเสริม

ดร.สตา มาเรีย อธิบายว่า “การทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นสากล การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและหมุนเวียนและความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดเตรียมภูมิภาคให้ดีขึ้นสำหรับยุคดิจิทัล คือ ลำดับความสำคัญบางส่วนที่เอเปคและแคนาดามีร่วมกัน เอเปคเปิดรับข้อมูลและความร่วมมือกับภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา และเยาวชนเป็นอย่างมาก และเราขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการมีส่วนร่วม ซึ่งไม่เพียงแต่เสริมความแข็งแกร่งให้กับวาระการทำงานของเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างแปซิฟิกและเอเชียด้วย”

องค์กรที่ให้คำปรึกษา ได้แก่ Google, มูลนิธิเอเชียแปซิฟิกแห่งแคนาดา (the Asia-Pacific Foundation of Canada) ตลอดจนมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (the University of British Columbia) นอกจากนี้ ดร.สตา มาเรียยังได้พบกับซารา วิลชอว์ (Sara Wilshaw) กรรมาธิการการค้าของแคนาดาและกลุ่มซูเปอร์คลัสเตอร์ดิจิทัลแห่งบริติชโคลัมเบีย (the Digital Supercluster of British Columbia)

หมายเหตุ

ผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับ APEC Business Travel Card (ABTC) สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน https://www.apec.org/groups/committee-on-trade-and-investment/business-mobility-group/abtc

รายการอ้างอิง

APEC. (28 April 2022). Push from Private Sector Essential to Accelerate Regional Integration and Address Challenges: APEC. Retrieved from https://www.apec.org/press/news-releases/2022/push-from-private-sector-essential-to-accelerate-regional-integration-and-address-challenges

แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดย

นายศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ นักวิจัยประจำสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์