14 ก.ค. 64 10:37 น. สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผย ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2551 ขณะที่เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.9%
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนี CPI เพิ่มสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคารถยนต์ที่เพิ่มขึ้น 4% หลังยอดการผลิตรถยนต์ลดลงเนื่องจากวิกฤตขาดแคลนชิปได้ผลักดันให้ราคารถยนต์เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยมาจากการที่ประชาชนสหรัฐฯได้ออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นส่งผลให้ ราคารถเช่าและอัตราห้องพักโรงแรมเพิ่มขึ้น 7.9% และราคาตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้น 2.7%
จากการปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นสัญญานที่บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯกำลังปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ หลังผู้บริโภคต้องจ่ายเงินในจำนวนที่สูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับเพิ่มอัตราเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ก่อนหน้านี้เฟดจะยืนยันว่าการเพิ่มขึ้นอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯในครั้งนี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ทั้งนี้ Gus Faucher หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ PNC Financial เผยว่าจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นได้เพิ่มความคาดหวังของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2513 อย่างไรก็ตาม Gus Faucher ได้คาดการณ์ว่าเฟดพร้อมที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระยะยาวต่อไป
รายงาน ภูมินทร์ คิดเลิศล้ำ
เรียบเรียง ภูมินทร์ คิดเลิศล้ำ
อนุมัติ พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน
Cr. efinancethai