18 ก.พ. 64 14:30 น. สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ม.ค.64 อยู่ที่ 83.5 ลดลงเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดรอบ 6 เดือน เหตุโควิดรอบใหม่ – ส่งออกเจอปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน – เงินบาทแข็งค่ากดดัน ฟากดัชนี 3 เดือน ยังลดลง ฝากรัฐเร่งฉีดวัคซีน – ดูแลเงินบาท
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนม.ค.64 อยู่ที่ระดับ 83.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.8 ในเดือนธ.ค. 63 โดยค่าดัชนีฯ โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน
โดยปัจจัยลบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธ.ค. 63 ที่ผ่านมา ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าระลอกแรกและขยายขอบเขตในหลายจังหวัด ส่งผลให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยกำหนดพื้นที่ควบคุมตามความรุนแรงของสถานการณ์
รวมทั้งมีความเข้มงวดในมาตรการรักษาระยะห่าง การจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในร้านอาหาร และสถานที่ต่างๆ ขณะที่ภาครัฐและเอกชนให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (work from home) มากขึ้น ส่วนสถานศึกษายังปิดเรียนชั่วคราวโดยให้เรียนผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ในด้านการส่งออกผู้ประกอบการยังประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ยังคงกดดันภาคการส่งออกของไทย
อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าการระบาดระลอกแรก ในช่วงเดือนเม.ย.63 ซึ่งลดลงมาอยู่ที่ระดับ 75.9 เนื่องจากภาคการผลิตไม่ได้หยุดชะงัก และยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการ แรงงาน และประชาชนผ่านโครงการต่างๆ ยังช่วยพยุงเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบ ทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,441 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 73.8% , อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 52.6% , และราคาน้ำมัน 42.2% ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 40.8% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 37.4% ตามลำดับ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.1 จากระดับ 92.7 ในเดือนธ.ค. 63 เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ โควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีวัคซีน โควิด-19 ฉีดให้กับประชาชน ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 64 ตลอดจนการค้าและการลงทุนของไทยยังมีความไม่แน่นอน
โดยข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1. เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก
2. เร่งรัดการจัดซื้อและการแจกจ่ายวัคซีน โควิด-19 ของไทย ให้ได้ตามกำหนดเวลาและมีปริมาณเพียงพอเพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ
3. เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติและประเทศคู่ค้า เกี่ยวกับมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ของไทย
4. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคา
5. ขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะมาตรการเสริมสภาพคล่อง จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันมีการปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลนเพียง 1.22 แสนล้านบาท จากวงเงิน 500,000 ล้านบาท รวมทั้งแก้ไขกฎหมายและเงื่อนไขพ.ร.ก.ซอฟต์โลนที่เป็นอุปสรรคเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้มากขึ้น
6. ขอให้ภาครัฐพิจารณาการนำโครงการช็อปดีมีคืนกลับมาใช้ในปี 64 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 64
เรียบเรียง สุรเมธี มณีสุโข
อนุมัติ อนุรักษ์ ลีประเสริฐสุนทร
Cr.Efinancethai