พุธที่ 21 สิงหาคม 2562 เวลา 07.38 น. เดลินิวส์
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ผู้นำสหราชอาณาจักร แสดงจุดยืนเรื่องแคชเมียร์ไม่ต่างจากรัฐบาลในอดีต นั่นคือ “เป็นความขัดแย้งระดับทวิภาคี” ที่อินเดียกับปากีสถานต้องร่วมกันจัดการ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองศรีนคร ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ว่าทำเนียบนายกรัฐมนตรีสหราอาณาจักร เลขที่ 10 ดาวนิงสตรีท ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร ว่านายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน สนทนาทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย เกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดครั้งใหม่ในแคชเมียร์ จากการที่รัฐบาลนิวเดลียกเลิกมาตรา 370 เพิกถอนสถานะพิเศษของรัฐชัมมูและกัศมีร์ หรือภูมิภาคแคชเมียร์ฝั่งอินเดีย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา และมีแผนเตรียมแบ่งพื้นที่ออกเป็น “2 รัฐใหม่” สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้แก่ปากีสถานซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนทั้งหมดเช่นกัน ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น “เป็นข้อขัดแย้งระดับทวิภาคี” ที่ต้องแก้ไขโดยอินเดียและปากีสถานเท่านั้น
ทั้งนี้ แคชเมียร์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิบริติชยาวนานถึง 1 ศตวรรษ และรัฐบาลสหราชอาณาจักรยืนกรานมาตลอดทุกสมัย ความขัดแย้งเรื่องแคชเมียร์เป็นประเด็นที่อินเดียและปากีสถาน “ต้องร่วมกันแก้ไข” นับตั้งแต่มอบเอกราชให้แก่ทั้งสองประเทศพร้อมกันเมื่อปี 2490
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ สนทนาทางโทรศัพท์กับทั้งโมดีและนายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน ผู้นำปากีสถาน เสนอตัวทำหน้าที่ “ผู้ไกล่เกลี่ย” เรื่องพื้นที่พิพาทในแคชเมียร์ ด้านกระทรวงการต่างประเทศปากีสถานออกแถลงการณ์ว่าจะฟ้องร้องเรื่องนี้ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ( ไอซีเจ ) หรือ “ศาลโลก” ที่กรุงเฮก ในเนเธอร์แลนด์ โดยนับตั้งแต่รัฐบาลนิวเดลียกเลิกมาตรา 370 รัฐบาลอิสลามาบัดลดความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายทั้งในทางการทูตและการค้า
ขณะเดียวกันอินเดียรื้อฟื้นมาตรการคุมเข้มในหลายเขตของรัฐชัมมูและกัศมีร์ โดยเฉพาะที่เมืองศรีนครซึ่งเป็นเมืองเอก เนื่องจากมีการประท้วงบ่อยครั้งขึ้น แม้รัฐบาลนิวเดลีดำเนินการเชื่อมต่อระบบสื่อสารทั้งอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เข้าสู่พื้นที่ มีรายงานผู้ถูกจับกุมแล้วมากกว่า 4,000 คน รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นและผู้นำทางศาสนา.
เครดิตภาพ : REUTERS, AP
CR: เดลินิวส์