12 พ.ค. 2566 เวลา 6:56 น./กรุงเทพธุรกิจ

ผู้นำอาเซียนมีฉันทามติร่วมกัน เพิ่มความร่วมมือปราบปราม เครือข่ายการค้ามนุษย์ออนไลน์ในภูมิภาค ขณะผู้นำอินโดฯ เน้นย้ำความสำคัญ 3 ประการจัดการประเด็นเมียนมา คือการยุติความรุนแรง การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ที่ประชุมสุดยอดผู้นำสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) มีมติร่วมกัน เมื่อวันพุธ(10พ.ค.) รับรองปฏิญญาว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงาน เพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ออนไลน์ และการระบุตัวตนเหยื่อ ซึ่งรวมถึงการยกระดับความร่วมมือ ระหว่างเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายของทุกประเทศสมาชิก ทั้งในด้านการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูล การรวบรวมหลักฐาน และการสืบสวนสอบสวน
ความเคลื่อนไหวนี้ของอาเซียนเกิดขึ้น หลังองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ( ไอโอเอ็ม ) เผยแพร่รายงาน เมื่อไม่นานมานี้ ว่า กัมพูชาและลาว กำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ของขบวนการค้ามนุษย์ ขณะที่การเคลื่อนไหวของอาชญากรในภูมิภาคแห่งนี้ หันมาใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้น เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการล่อล่วงเหยื่้อ และการดำเนินงาน
ด้านประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย กล่าวว่า การปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ลักษณะนี้ ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยอินโดนีเซียให้ความช่วยเหลือพลเมืองของตัวเองจำนวนหลายพันคนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถูกล่อลวงให้เข้าสู่ขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่อยู่ในกัมพูชาและเมียนมา
สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียรายงานว่า วิกฤตในเมียนมาและการโจมตีขบวนรถเพื่อมนุษยธรรมของอาเซียน กลายเป็นประเด็นร้อนที่เบียดบังหัวข้อการประชุมสุดยอดของกลุ่มอาเซียนในสัปดาห์นี้ โดยอินโดนีเซียและสิงคโปร์ต่างประณามการใช้ความรุนแรง
ผู้นำประเทศ 8 คน จาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน เตรียมหารือร่วมกันในการประชุมสุดยอด 2 วัน ซึ่งผู้นำของรัฐบาลทหารของเมียนมาไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ส่วนประเทศไทย ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์นี้ (14 พ.ค.) มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม
อินโดนีเซีย ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มอาเซียนและเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ประกาศหัวข้อการประชุม คือ “เรื่องราวของอาเซียน: จุดศูนย์กลางของการเติบโต (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth)” ขณะที่ประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้อยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ประเด็นของเมียนมาก็กลายเป็นประเด็นใหญ่ในการหารือด้วยเช่นกัน
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ประธานาธิบดีวิโดโด เน้นย้ำถึงความสำคัญ 3 ประการของรัฐบาลอินโดนีเซีย ในการจัดการกับเมียนมา ได้แก่ การยุติความรุนแรง การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ พร้อมเสริมว่า “การคว่ำบาตรไม่ใช่ทางออก” และเสริมว่าต้องการให้เมียนมาเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเจรจาเหล่านี้
ต่อมาในวันที่ 8 พ.ค. ปธน.วิโดโด ระบุว่า เจ้าหน้าที่ที่กำลังนำส่งความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียนถูกโจมตี โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ปธน.วิโดโด กล่าวว่า “ผมขอเน้นย้ำว่าการโจมตีดังกล่าว ไม่อาจขัดขวางอาเซียนและอินโดนีเซียจากการเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง และหยุดการใช้กำลัง” พร้อมเน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่า “ไม่มีใครจะชนะในสถานการณ์นี้”
ด้านกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ 2 คน จากสถานเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ในเมืองย่างกุ้งอยู่ในขบวนรถที่ถูกโจมตีในรัฐฉาน ทางตะวันออกของเมียนมา แต่เจ้าหน้าที่ทั้งสองปลอดภัยดี ขณะที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศกล่าวกับสื่อว่า “สิงคโปร์ขอประณามการโจมตีครั้งนี้”
โฆษกกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า “สิงคโปร์ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายละเว้นการใช้ความรุนแรง ตามฉันทามติ 5 ประการ” โดยอ้างถึงแผนแนวทางการฟื้นฟูสันติภาพที่เห็นพ้องต้องกันอย่างกว้างขวางระหว่างผู้นำอาเซียนและพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อปี 2564
“มีเพียงการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักทั้งหมดในเมียนมาเท่านั้น ที่สามารถเปิดทางไปสู่การแก้ปัญหาโดยสันติวิธีเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา” โฆษกกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าว
Cr : กรุงเทพธุรกิจ