เอเปคให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ข้อมูลและวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร

หุ้นส่วนนโยบายเอเปคว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร

ปาล์มสปริงส์ สหรัฐอเมริกา

18 กุมภาพันธ์ 2023

สมาชิกเอเปกมุ่งมั่นสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารสำหรับผู้คนในภูมิภาคและเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยใช้ประโยชน์จากการเพิ่มผลิตภาพที่ยั่งยืน นวัตกรรม นโยบายวิทยาศาสตร์และความเสี่ยงเป็นศูนย์กลางเพื่อส่งเสริมของเกษตรกรรมที่เท่าทันกับสภาพภูมิอากาศ (climate smart agriculture)

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทุกแง่มุมของระบบเกษตรอาหาร” อัลลิสัน โธมัส (Allison Thomas) ประธานหุ้นส่วนนโยบายเอเปคว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร (APEC Policy Partnership on Food Security) ให้ความคิดเห็นในการประชุมเจ้าหน้าที่เมืองปาล์มสปริงส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานได้ทำให้เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเปราะบางยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งทั่วโลกในปัจจุบันยังขัดขวางการจำหน่ายและการผลิตอาหารทั่วโลก” โธมัสให้ความเห็นเพิ่มเติม

เธอยังเสริมอีกว่า “เรามีปัญหามากมายที่ทำให้เราต้องประชุมกันในเวลานี้และภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ เราในฐานะชุมชนต้องรวมตัวกันเพื่อพูดคุยและหารือเกี่ยวกับความสำคัญของความมั่นคงทางอาหารทั่วทั้งภูมิภาคของเรา”

สหรัฐอเมริกา เจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี 2011 และเป็นผู้นำจัดตั้งภาคีนโยบายว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหาร (Policy Partnership on Food Security) เพื่อจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น ข้อจำกัดด้านผลผลิตทางการเกษตร ผลกระทบด้านลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ตลอดจนจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและราคาอาหารที่ผันผวน

ในกว่าทศวรรษต่อมา ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังคงเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายกันและมีความเร่งด่วนมากขึ้นก็ตาม

รายงานล่าสุดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (United Nation’s Food and Agriculture Organization: FAO) เน้นย้ำว่าประชากรราว 2.3 พันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอในปี 2021 หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 30 ของประชากรโลก รายงานแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงด้านอาหารขั้นรุนแรงเพิ่มขึ้นทั่วโลกและในทุกภูมิภาค

การตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น สหรัฐอเมริกาในฐานะเจ้าภาพของเอเปค 2023 ได้เสนอชุดการพัฒนาหลักการทั่วไปที่สามารถช่วยเหลือสมาชิกในการพัฒนาระบบอาหารเกษตรที่ฟื้นฟูได้ และชี้นำความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อผลักดันการสนทนาระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อม และการค้าด้านการเกษตรและอาหาร ในขณะที่เอเปคร่วมกันเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค

เมื่อปีที่แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและอาหารได้รับรองแผนการดำเนินงานตาม โรดแมปความมั่นคงทางอาหารสู่ปี 2030 (Implementation Plan of the Food Security Roadmap Towards 2030) เพื่อนำทางและประสานการดำเนินการ โครงการ และกิจกรรมเพื่อบรรลุความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค

ในปีนี้ สมาชิกกำลังหารือเกี่ยวกับการดำเนินการเฉพาะเพื่อนำแผนงานความมั่นคงทางอาหารไปสู่ปี 2030 ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญ 6 ประการ ได้แก่ การแปลงเป็นดิจิทัลและนวัตกรรม ผลผลิต ความครอบคลุม ความยั่งยืน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และเป้าหมายที่ชาญฉลาด

“เป้าหมายของเรานั้นเรียบง่ายและซับซ้อนในเวลาเดียวกัน เราต้องมั่นใจว่าผู้คนมีอาหารกินเพียงพอ สิ่งแวดล้อมและโลกจะปลอดภัยและเกษตรกรสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้” โธมัสอธิบาย

“เราต้องมุ่งเน้นไปที่การตัดสินใจนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เราต้องมุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้เกษตรกร ชาวประมง ผู้ใช้ป่าไม้ และผู้ผลิตของเรามีเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการผลิต ความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ ดิฉันขอเรียกร้องให้เราทำงานร่วมกันด้วยจิตวิญญาณของความร่วมมือและการทำงานร่วมกันเพื่อจัดการหารือที่มีความหมายและดำเนินการที่จะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อเป้าหมายของเราในการบรรลุความมั่นคงทางอาหาร” เธอกล่าวเน้นย้ำ

การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security Ministerial Meeting) จะจัดขึ้นที่เมืองซีแอตเทิลและมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 2023

รายการอ้างอิง

APEC. (18 February 2023). APEC Turns to Technology, Data and Science to Tackle Food Security. Retrieved from https://www.apec.org/press/news-releases/2023/apec-turns-to-technology-data-and-science-to-tackle-food-security

แปลและเรียบเรียงโดย

นายศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ

นักวิจัย, สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์