สำนักเลขาธิการเอเปค
ปาล์มสปริงส์ สหรัฐอเมริกา, 15 กุมภาพันธ์ 2023

เอเปคขับเคลื่อนวาระการประชุมปี 2023 เพื่อสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน โดยการประชุมเจ้าหน้าที่จาก 21 สมาชิกเดินทางถึงเมืองปาล์มสปริงส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งแต่วันที่ 14-28 กุมภาพันธ์ 2023
สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ หัวข้อการประชุมมุ่งเน้นที่การสร้างอนาคตที่เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น สร้างสรรค์และครอบคลุมสำหรับทุกคน การประชุมและการประชุมเชิงปฏิบัติการมากกว่า 100 รายการมีกำหนดการขึ้นเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างเศรษฐกิจสมาชิกและผลักดันวาระในปีนี้เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในภูมิภาค
แมตต์ เมอร์เรย์ (Matt Murray) เจ้าหน้าที่อาวุโสของเอเปคกล่าวว่า “เอเปค 2023 นำเสนอโอกาสพิเศษในการสร้างเวทีที่แข็งแกร่งสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อดึงดูดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักใน 21 สมาชิกที่รวมตัวขึ้นเป็นเอเปค ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมีความสำคัญต่อการกระชับและขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของเรากับภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก รวมถึงในด้านการค้าและการลงทุน การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและนวัตกรรม ความยั่งยืน และการเติบโตอย่างครอบคลุม”
ชุดการประชุมในปัจจุบันเริ่มต้นด้วยการอภิปรายเกี่ยวกับความคล่องตัวภายใต้ขอบเขตของ APEC Business Mobility Group เพื่อให้มั่นใจว่าการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนสำหรับนักธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น สมาชิกกำลังทบทวนความร่วมมือทางเทคนิคเกี่ยวกับโครงการ APEC Business Travel Card (ABTC) แผนการดังกล่าวเปลี่ยนเป็นดิจิทัลในปี 2022 และกำลังอยู่ระหว่างการสร้างความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อยืนยันความสามารถในการทำงานร่วมกันและการเข้าถึงที่ง่าย ทั้งสำหรับผู้ถือบัตรเสมือนและสมาชิกเอเปคที่เข้าร่วม การมุ่งเน้นนี้เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีเกิดใหม่มาใช้ ตลอดจนการปรับปรุงการเชื่อมต่อทางดิจิทัลที่สอดคล้องโดยตรงกับแผนปฏิบัติการ Aotearoa
นอกจากนี้ เครือข่ายหน่วยงานต่อต้านการทุจริตและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย (Network of Anti-Corruption Authorities and Law Enforcement Agencies) ยังรวมตัวกันที่ปาล์มสปริงส์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ กรณีศึกษา เทคนิคการสืบสวน เครื่องมือ และแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย เพื่อช่วยสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก ในฐานะที่พวกเขาต่อสู้กับการทุจริต การติดสินบน การฟอกเงิน และการค้าที่ผิดกฎหมาย เมื่อพวกเขาระบุและคืนเงินที่ได้มาจากอาชญากรรมเหล่านี้
กาติดตามความคืบหน้าของข้อตกลงองค์การการค้าโลกว่าด้วยการอุดหนุนการประมง (WTO Agreement on Fisheries Subsidies) คณะทำงานด้านมหาสมุทรและการประมงของเอเปค (APEC’s Ocean and Fisheries Working Group) กำลังกำหนดความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการอุดหนุนการประมงที่ประเทศสมาชิกเผชิญอยู่ คณะทำงานยังพิจารณาดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการประมงขนาดเล็กและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยให้ความสำคัญกับภาคส่วนนี้ต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของเศรษฐกิจเอเปค
ดร.รีเบคกา ซานตา มาเรีย (Dr. Rebecca Sta Maria) ผู้อำนวยการบริหารสำนักเลขาธิการเอเปคกล่าวว่า “เราได้เริ่มต้นเอเปค 2023 ด้วยแรงผลักดันที่ดีและเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรักษาความคืบหน้านี้ไว้ ในขณะที่เราจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในปีนี้ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความกังวลของผู้คน เราเรียนรู้จากบทเรียนจากโรคระบาด เราต้องการความสามารถในการคาดการณ์มากขึ้นและต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ เราจำเป็นต้องยกระดับความร่วมมือระดับโลกและระดับภูมิภาค และเราต้องการนวัตกรรมมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่เท่านั้น แต่มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวที่ทำให้ทุกประเด็นปรับตัวได้”
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (APEC Senior Officials’ Meeting) ครั้งแรกและการประชุมที่เกี่ยวข้องจะสิ้นสุดในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ในการประชุมนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสจะหารือเพิ่มเติมถึงวิธีการบรรลุอนาคตที่เชื่อมโยงถึงกัน นวัตกรรมและครอบคลุมมากขึ้น
สหรัฐอเมริกาจะจัดแถลงข่าวในตอนท้ายของการประชุมในวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ เวลา 13:00-15:00 น. (เวลามาตรฐานแปซิฟิก) หรือ 05:00 น. (เวลาสิงคโปร์) การแถลงข่าวจะมีไมค์ ไพล์ (Mike Pyle) ประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของ APEC 2023 แมตต์ เมอร์เรย์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ของเอเปค และดร.รีเบคกา ซานตา มาเรีย ผู้อำนวยการบริหารสำนักเลขาธิการเอเปคร่วมแถลงข่าว
รายการอ้างอิง
APEC. (15 February 2023). APEC Creating a Resilient and Sustainable Future for All as Officials Meet in Palm Springs. Retrieved from https://www.apec.org/press/news-releases/2023/apec-creates-a-resilient-and-sustainable-future-for-all-as-officials-meet-in-palm-springs
แปลและเรียบเรียงโดย
นายศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ
นักวิจัย, สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์