“จีน” เปลี่ยน รมว.ต่างประเทศคนใหม่ คีย์แมนดีลส่งผลไทย – จีนไหม

06 ม.ค. 2566 เวลา 7:00 น./กรุงเทพธุรกิจ

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไทย – จีน มีความสัมพันธ์ระดับผู้นำแบบพิเศษๆ และเห็นชัดเจน แม้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความสัมพันธ์เดิมที่ดีอยู่แล้ว เมื่อจีนประกาศเปลี่ยนรัฐมนตรีต่างประเทศ คีย์แมนหลักดีลไทย จะมีผลต่อสัมพันธ์ภาพรวมระดับประเทศหรือไม่

ข่าวดังสะเทือนวงการต่างประเทศ เมื่อจีนประกาศเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยดัน “หวัง อี้” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ก้าวขึ้นสู่นักการทูตสูงสุดเบอร์หนึ่งของจีน แทนที่ “หยาง เจียฉือ” พร้อมให้นั่งตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการฝ่ายการต่างประเทศกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีคำสั่งให้ “ฉิน กัง” อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศต่อจากหวัง อี้

คำถามคือ เรื่องนี้ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศ  และความสัมพันธ์จีน-ไทย หรือไม่ อย่างไร เมื่อความสัมพันธ์สองประเทศในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ยกให้เป็นความสัมพันธ์ระดับพิเศษ เพราะขับเคลื่อนด้วยหวัง อี้ กับดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชนิดที่เรียกว่า “มองตาก็รู้ใจ” ทั้งประเด็นเมียนมา ภูมิรัฐศาสตร์ และสถานการณ์ร้อนแรงในภูมิภาค

ก่อนลงลึกเรื่องราวไปกว่านี้ ขอขยายความถึงความสัมพันธ์จีน-ไทยตอนนี้อยู่ใน “ระดับดีมาก” ทั้ง 4 ระดับคือ ความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลกับรัฐบาล, เอกชนกับเอกชน, ประชาชนกับประชาชน และความสัมพันธ์พิเศษ “ส่วนตัว” บนพื้นฐานผลประโยชน์ชาติ ซึ่งดูเหมือนว่าความสัมพันธ์อย่างหลังต้องใช้เวลาสร้าง “ความไว้วางใจกัน” 

ดอนและหวัง อี้ เป็นเพื่อนนักการทูตมากว่า 45 ปี ตั้งแต่ดอนเป็นข้าราชการในสังกัดกรมการเมือง และเอเชียตะวันออกขณะนั้นหวัง อี้ ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ทั้งสองเรียนรู้นิสัยและทำความเข้าใจกันระหว่างติดต่อประสานงาน จนฝั่งจีนกล่าวขานว่าทั้งคู่เป็น “มหามิตรครึ่งศตวรรษ”

ถึงอย่างไร ตอนนี้หวัง อี้ยังควบตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐ ซึ่งดูแลนโยบายต่างประเทศของจีนอยู่ ดังนั้นการเปลี่ยนให้ฉิน กังมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศจีนแทน ก็ไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศของจีนต่อไทย แต่ส่งผลเพียงความรู้สึกระดับตัวบุคคลเท่านั้น 

เมื่อครั้งที่ ฉิน กัง เป็นทูตจีนประจำวอชิงตัน ดี.ซี. ขึ้นชื่อเป็นคนแรกๆ เริ่มนโยบาย “wolf warrior diplomacy” หรือการทูตแบบแข็งกร้าว เพราะต้องยืดหยัดท่าทีที่ชัดเจนของจีนต่อสหรัฐ ซึ่งเป็นสไตล์การทูตต่างไปจากการทูตจีนในอดีตที่เต็มไปด้วยการสงวนท่าที แต่นั่นหมายถึงจำเป็นต้องแสดงท่าทีเช่นนี้ เพราะสถานการณ์สหรัฐและจีนมีความพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ฉิน กัง ทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีนแล้ว ไม่ได้ดูเฉพาะสหรัฐ จึงมีความคาดหวังให้ทำความรู้จักและใช้เวลาเข้าใจภูมิภาคต่างๆ รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย เพราะเป็นฮอตสปอตที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจยุคนี้

Cr : กรุงเทพธุรกิจ