เปิดมุมมองซีอีโอระดับโลก คาดศก.โลกอาจถดถอยในปีหน้า

07 ธ.ค. 2565 เวลา 15:00 น./กรุงเทพธุรกิจ

บรรดาซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง วอลมาร์ท, เจเนอรัลมอเตอร์, เจพีมอร์แกน, และยูเนียนแปซิฟิกเรลโรดส์ ได้เข้าร่วมสัมมนาในงาน Squawk Box ของซีเอ็นบีซีเมื่อเช้าวันอังคาร (6 ธ.ค.) ส่วนใหญ่คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกอาจเกิดภาวะถดถอยได้

บรรดาซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ ได้พูดคุยเกี่ยวกับเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงมุมองต่อปัจจัยดังกล่าว ทำให้บริษัทมองภาพรวมในปีหน้าเป็นอย่างไร เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีโอกาสถดถอยในปี 2566 บริษัทในอเมริกาต่างต้องเตรียมรับมือกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซบเซาลง

ซึ่งแต่ละคนมีมุมมอง ดังนี้

เจมี ไดมอน ซีอีโอเจพีมอร์แกน

เจมี ไดมอน ซีอีโอเจพีมอร์แกน กล่าวว่า “อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อพุ่ง ความกดดันจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยอื่น ๆ อาจก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้” การออมและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยควบคุมงบการเงินของประชาชนได้ แต่เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้ทำลายทุกอย่างแล้ว

ไดมอนคาดการณ์ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ อาจอยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีกทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามยูเครนและการค้าที่ซบเซาในจีน เป็นหนึ่งในมรสุมที่ไดมอนกำลังจับตาอยู่

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์แข็งค่า จะทำให้การค้าระหว่างประเทศ เช่น น้ำมันอาจมีราคาแพงขึ้น 

“ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจตกราง และเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรง เหมือนพายุเฮอริเคน เราไม่อาจล่วงรู้ได้” ไดมอนกล่าว

แมรี บาร์รา ซีอีโอเจเนอรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม)

แมรี บาร์รา ซีอีโอ เจเนอรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม) คาดว่า เศรษฐกิจจะมีอุปสรรคในปีหน้าแต่ยังไม่ถึงขั้นถดถอย “ฉันจะไม่เรียกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะนั่นเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ เพราะตอนนี้บริษัทเราเห็นว่าการบริโภคยังคงแข็งแกร่ง”

อย่างไรก็ตาม บริษัทผลิตรถยนต์ต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังในการรับมือกับความต้องการที่ลดลงเหมือนกับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ส่วนในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่ผู้บริโภคใช้จ่ายในการเดินทางและบริการน้อยลง แต่อุตสาหกรรมบางอย่างมีความต้องการเพิ่มขึ้นและจากนั้นลดลงอย่างไม่ทันตั้งตัว

ทั้งนี้ บาร์ราคาดว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และวิกฤตซัพพลายเชน ยังคงมีจนถึงปี 2566 แม้ปัญหาในแต่ละไตรมาสเริ่มคลี่คลายแล้วก็ตาม

ดั๊ก แม็กมิลลอน ซีอีโอวอลมาร์ท

ดั๊ก แม็กมิลลอน ซีอีโอวอลมาร์ทไม่อยากให้เกิดภาวะถดถอย แต่คาดว่าต้องมีสิ่งเลวร้ายที่สำคัญมาจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ “เรามีลูกค้าที่ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพราะพวกเขาตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเงินเฟ้อมาหลายเดือนแล้ว เฟดควรทำในสิ่งที่ต้องทำหรือไม่ หากการจบปัญหามันยากเกินกว่าที่เราต้องการ ผมคิดว่าเงินเฟ้อต้องถูกจัดการ”

แม้วอลมาร์ทชี้ว่า การใช้จ่ายของลูกค้ายังคงแข็งแกร่ง แต่แม็กมิลลอนพบว่า การซื้อสินค้าบางประเภท ลูกค้าเกิดความระมัดระวังมากขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและของเล่น

อย่างไรก็ดี วอลมาร์ทเห็นว่าปัญหาการจ้างพนักงานช่วงโควิด-19 เริ่มเบาบางลง เนื่องจากบริษัทปรับขึ้นค่าแรงแล้ว แต่แม็กมิลลอนย้ำว่า บริษัทยังมีความกดดันในการจ้างพนักงานแคชเชียร์อยู่

อย่างไรก็ดี หากเกิดภาวะเศรษฐกิถดถอยรุนแรง แม็กมิลลอนยืนยันว่า วอลมาร์ทจะไม่ปลดพนักงานออกแน่นอน “ลูกค้าและสมาชิกต้องรับการบริการที่ดี เพื่อเกื้อหนุนพนักงานของเรา และเศรษฐกิจจะเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ” แม็กมิลลอนกล่าว

สก็อตต์ เคอร์บี ซีอีโอยูไนเต็ดแอร์ไลน์

สก็อตต์ เคอร์บี ซีอีโอยูไนเต็ดแอร์ไลน์ กล่าวว่า บริษัทกำลังเริ่มปีใหม่ด้วยการมองโลกในแง่ดี แต่ในปี 2566 อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อยเพราะเฟด

ธุรกิจท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เริ่มลดลง แต่เคอร์บีเผยว่า ความต้องการท่องเที่ยวยังไม่เพิ่มขึ้น อาจบ่งบอกว่าอยู่ในช่วงก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และแม้ว่าภาคอุตสาหกรรมนี้อยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่เคอร์บีชี้ว่า ธุรกิจยังคงเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ หลังการแพร่ระบาด เช่น ความขาดแคลนนักบิน และเชื้อเพลิงมีราคาแพง

ซึ่งขณะนี้หลายสายการบินต้องเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการทำงานแบบไฮบริด ด้วยการเพิ่มรีโมทเวิร์กหรือการทำงานที่ใดก็ได้ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แรงงานมีเวลาท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งนี้ ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ยังคงมองภาพรวมในอนาคตในแง่ดี เนื่องจากรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แลนซ์ ฟริตซ์ ซีอีโอยูเนียนแปซิฟิกเรลโรดส์

แลนซ์ ฟริตซ์ ซีอีโอยูเนียนแปซิฟิกเรลโรดส์ เผยว่า การขนส่งกำลังชะลอตัวลง เป็นสัญญาณว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคเริ่มลดลงและเศรษฐกิจกำลังถดถอย “ตลาดอสังหาฯชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด และพัสดุไปรษณีย์เริ่มน้อยลงเช่นกัน ซึ่งเราเห็นได้จากรายงานและการขนส่งพัสดุ” ฟริตซ์กล่าว

ทั้งนี้ ฟริตซ์ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเฟดในการตัดสินใจว่า การสร้างความกดดันต่อการใช้จ่ายของประชาชนและทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้านั้น ยังคุ้มค่าแก่การลดเงินเฟ้อหรือไม่

“เฟดพยายามต้อนเราให้อยู่ในหนทางแห่งความมอดไหม้ ด้วยภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและความต้องการบริโภคลดลง ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ดีเลย” ฟริตซ์กล่าว

Cr : กรุงเทพธุรกิจ