วันที่ 26 ตุลาคม 2565 – 17:21 น. / ประชาชาติธุรกิจ

ผลของการประชุมสมัชชาแห่งชาติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 20 นอกจากจะลงเอยด้วยการก้าวขึ้นมากุมอำนาจเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 3 ของผู้นำวัย 69 ปีอย่าง “สี จิ้นผิง” ตามที่ได้รับการคาดหมายกันอย่างกว้างขวางก่อนหน้าการประชุม
แถมยังพาเหรดนำคนที่ภักดีและสนิทสนมกับตนเข้ารับตำแหน่งในกลุ่มแกนนำพรรคแทบทั้งหมด เพื่อการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในระยะยาวอีกด้วย
- ซีอีโอ เจพีมอร์แกน เตือนเรื่องที่น่าวิตกยิ่งกว่า เศรษฐกิจถดถอย
- สื่อเอเชียเผยอีกคลิป จังหวะก่อน หูจิ่นเทา ถูกนำตัวพ้น สีจิ้นผิง ย้ำข้อสงสัย
- เปิดบัญชีรายชื่อกฎหมาย 204 ฉบับ ปรับเป็นพินัย ไม่ถือเป็นโทษอาญา
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการปรับเปลี่ยนทีมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่เรียกได้ว่าเป็นการ “ยกเครื่อง” กันเลยทีเดียว
หลังจากที่ผู้ที่รับผิดชอบชุดเดิม ตั้งแต่ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี, ลิ่ว เหอ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ซาร์เศรษฐกิจ”, อี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน หรือแบงก์ชาติจีน และ กัวะ ซู่ฉิง ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการธนาคาร ล้วนถูกโละพ้นตำแหน่งในกลุ่มแกนนำพรรค ทั้งในคณะกรรมการกรมการเมืองถาวรประจำโปลิตบูโร และในคณะกรรมการกรมการเมือง ทำให้เชื่อกันว่าทั้งหมดจะถูกปลดพ้นตำแหน่งที่รับผิดชอบตามไปด้วย เมื่อประกาศรายชื่อ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของจีนในราวต้นปีหน้า
คำถามที่ตามมาก็คือ ผู้ที่จะเข้ามารับหน้าที่บริหารเศรษฐกิจและการเงินคนใหม่ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง คือใครกัน
บรรดานักวิเคราะห์และสื่อใหญ่ อย่างนิวยอร์ก ไทมส์ หรือบลูมเบิร์กนิวส์ ระบุตรงกันว่า คนที่น่าจับตามองมากที่สุดเวลานี้ คือ “เหอ ลี่เฟิง” ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (เอ็นดีอาร์ซี) หน่วยงานกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาอันทรงอิทธิพลของจีนในเวลานี้
“เหอ ลี่เฟิง” วัย 67 ปี ได้ชื่อว่าเป็นมือดีทางเศรษฐกิจที่ “สี จิ้นผิง” ไว้วางใจใกล้ชิดมานาน ตั้งแต่สมัยที่เติบใหญ่ภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาด้วยกันที่มณฑลฟูเจี้ยน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น 1 ใน 25 กรรมการกรมการเมืองหรือ “โปลิตบูโร” ของพรรคในการประชุมครั้งนี้
ทำให้หลายคนเชื่อกันว่า เหอจะเข้ามารับหน้าที่เป็น “ซาร์เศรษฐกิจ” คนใหม่ของสี จิ้นผิง แทนที่ลิ่ว เหอต่อไปในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เหอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์มาจากมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน ก้าวขึ้นสู่ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจสำหรับกิจการ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ของทางการตั้งแต่อายุยังน้อย ก่อนที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในเมืองระดับ “มหานคร” ของจีนหลายต่อหลายเมือง
ล่าสุดคือการดำรงตำแหน่งผู้บริหารประจำนครเทียนจิน ซึ่งเหอ ลี่เฟิง โชว์ความสามารถอาศัยโครงการก่อสร้างขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองจนโด่งดัง
เหอได้รับตำแหน่งในเอ็นดีอาร์ซี ครั้งแรกในปี 2012 ในทันทีที่สี จิ้นผิงก้าวขึ้นเป็นผู้นำจีน ก่อนที่จะเป็นประธานในช่วงเวลาเพียง 5 ปีต่อมา ที่เอ็นดีอาร์ซี เหอทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่มากมาย และเป็นประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางของโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ข้อริเริ่มสำคัญของสี จิ้นผิง ทั้งยังเป็นคนรับผิดชอบในความพยายามปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของจีนอีกด้วย
บลูมเบิร์กระบุว่า สุนทรพจน์ในระยะหลังของ “เหอ ลี่เฟิง” สะท้อนสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ในจีนในเวลานี้อย่างชัดแจ้ง เขาพูดถึงการที่เศรษฐกิจจีนต้องพึ่งพาภาคอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป และชี้ให้เห็นว่าภาคการผลิตของจีนยังไม่อาจสนองตอบความต้องการสินค้าที่มีมูลค่าสูงของผู้บริโภคจีนได้
คนสำคัญที่ถูกจับตาอีกคนคือ “หลี่ เฉียง” วัย 63 ปี ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นอันดับ 2 ในคณะกรรมการกรมการเมืองถาวรประจำโปลิตบูโร 7 คน ที่กุมอำนาจกำหนดแนวทางจีนทั้งประเทศในทางปฏิบัติตลอดมา
“หลี่ เฉียง” ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำนครเซี่ยงไฮ้ เป็นอีกคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรแนบแน่นกับสี จิ้นผิงมานาน คาดว่าจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ในเชิงบริหารและกำกับดูแลการทำงานของรัฐมนตรีทั้งคณะ
เป็นเจ้าของแนวคิด “การพัฒนาเมืองรอง” หรือ “สเปเชียลทาวน์” ของจีน ซึ่งสี จิ้นผิง ชื่นชมว่าเป็นโครงการพลิกโฉมและยกระดับเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่ง
ส่วนผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเข้ามาเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติจีนคนต่อไป คือ “อี้ ฮุยมัน” ประธานคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์วัย 57 ปี ซึ่งหากไม่ได้รับตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติก็อาจไปทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกิจการธนาคาร แทนที่ “กัวะ ซู่ฉิง” ต่อไป
แคนดิเดตผู้ว่าการแบงก์ชาติอีกราย คือ “หยิน หยง” รองผู้ว่าการแบงก์ชาติวัยเพียง 53 ปี ที่ตอนนี้เป็นรองเลขาธิการพรรคสาขาปักกิ่งอยู่ด้วย หยินจบปริญญาโทด้านบริหารรัฐกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปริญญาเอกด้านวิศวกรรมโครงสร้างตลาดเงินจากมหาวิทยาลัยซิงหวา มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนในกรุงปักกิ่ง
ภารกิจสำคัญของหยินที่ปักกิ่งก็คือกำกับดูแลการดำเนินการตามกฎและข้อบังคับทางการเงิน ทำงานใกล้ชิดกับ “ไค่ ฉี” เลขาธิการพรรคสาขาปักกิ่ง ที่เป็น “สหายสนิท” อีกคนของสี จิ้นผิงนั่นเอง
Cr : ประชาชาติธุรกิจ