25 ตุลาคม 2022 BBC NEWS ไทย

นายริชี ซูนัค หัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรแล้ว หลังเข้าเฝ้ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 และน้อมรับคำเชิญของพระองค์ให้จัดตั้งรัฐบาล เมื่อ 25 ต.ค.
หลังดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ นายซูนัค นายกฯ คนที่ 3 ในรอบ 6 สัปดาห์ ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ แถลงที่หน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรี บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ว่าอังกฤษ “กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง ผลกระทบจากวิกฤตโควิดยังมีจนถึงทุกวันนี้”
นายกรัฐมนตรีเชื้อสายเอเชียคนแรกของสหราชอาณาจักรให้สัญญาว่ารัฐบาลของเขาจะทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ มีเกียรติภูมิ และตรวจสอบได้
“ความไว้วางใจต้องมาจากการมอบให้ และผมจะทำให้พวกท่านมอบความไว้วางใจนั้นให้ผม”
เขาประกาศว่า จะสร้างระบบบริการสาธารสุขแห่งชาติให้เข้มแข็งขึ้น ระบบโรงเรียนที่ขึ้น ท้องถนนที่ปลอดภัยกว่าเดิม รักษาสิ่งแวดล้อม สนับสนุนกองทัพ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน
ในการเริ่มต้นสุนทรพจน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 210 ปี กล่าวขอบคุณลิซ ทรัสส์ คู่แข่ชิงตำแหน่งผู้นำรัฐบาล และนายกฯ คนก่อนหน้า บอกว่าเธอคิดไม่ผิดที่จะพยายามกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็น “เป้าหมายที่สูงส่ง” ต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ “มีข้อผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้น”
“แม้ ไม่ได้เกิดจากความประสงค์ร้าย หรือความตั้งใจไม่ดี แต่ก็มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น” นายซูนัคกล่าว
เขาเสริมว่าเขามุ่งมั่นที่จะ “แก้ปัญหา” ที่เกิดจากนายกฯ คนก่อนหน้า ในทันที โดยจะทำงาน “ไม่เว้นแต่ละวัน” เพื่อให้ถึงเป้าหมาย ไม่ทิ้งให้ “คนรุ่นต่อไปต้องมาล้างหนี้ที่พวกเราอ่อนแอเกินกว่าจะจ่าย”
“ผมไม่กลัว (งานหนัก) ผมจะคำนึงถึงประโยชน์ของชาติ ให้อยู่เหนือการเมือง

นายริชี ซูนัค เรียกร้องความเป็นเอกภาพเพื่อเผชิญหน้ากับ “ความท้าทายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่” หลังชนะการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนต่อไป
นายซูนัค ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ หรือพรรคอนุรักษ์นิยมท่วมท้น ให้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีต่อจากนางลิซ ทรัสส์ หลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 44 วัน ทำให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีเชื้อสายเอเชียคนแรกของสหราชอาณาจักร แม้ว่า ช่วงต้นเดือน ก.ย. เขาจะพ่ายแพ้ในการชิงชัยตำแหน่งดังกล่าวต่อนางทรัสส์ หลังนายบอริส จอห์นสัน ลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือน ก.ค.
ถ้อยปราศรัยแรกความยาว 2 นาที หลังขึ้นรับตำแหน่ง นายซูนัค ประกาศว่า ภารกิจสำคัญแรก จะสร้างเอกภาพระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยมและประชาชนทั่วสหราชอาณาจักร
“สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่แข็งแกร่ง แต่เรากำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวด… เราต้องการความมั่นคง และเอกภาพ และผมจะถือว่าภารกิจสำคัญแรก คือ การทำให้พรรคของเราและประเทศชาติเป็นปึกแผ่นกัน”
นายซูนัคยังขอบคุณนายกรัฐมนตรีทรัสส์ ที่ปกครองประเทศในช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างยิ่งยวด แม้เธอจะดำรงตำแหน่งได้เพียง 44 วันก็ตาม
- ริชี ซูนัค กลายเป็นนายกฯ อังกฤษ เชื้อสายเอเชียคนแรก
- อังกฤษออกแผนลดภาษีมากสุดรอบ 50 ปี ทำปอนด์ร่วง หลายฝ่ายติง เอื้อคนรวย ทำเงินเฟ้อเพิ่ม
- นายกรัฐมนตรีอังกฤษ : ทำความรู้จัก ริชี สุนัค และ ลิซ ทรัสส์ และนโยบายสำคัญ
นายซูนัค จะเป็นนายกรัฐมนตรีเชื้อสายบริติช-เอเชียคนแรกของสหราชอาณาจักร และถือว่าอายุน้อยที่สุดในรอบ 200 ปี เขามีกำหนดจะขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันนี้
วันนี้ นางทรัสส์มีกำหนดจะประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะปราศรัยหน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรี ก่อนเดินทางไปพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เป็นครั้งสุดท้าย
ต่อจากนั้น นายซูนัคจะเข้าเฝ้ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ก่อนเดินทางกลับมาที่ถนนดาวนิงสตรีท เพื่อปราศรัยในเวลา 11.35 น. ตามเวลาในสหราชอาณาจักร หรือช่วงเย็นเวลาไทย
นายซูนัคถือเป็นนายกรัฐมนตรีพรรคอนุรักษ์นิยมคนที่ 3 นับแต่พรรคชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2019 ทำให้พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งล่วงหน้า เพราะสลับเปลี่ยนนายกฯ บ่อยเกินไป
ส.ส. พรรคอนุรักษ์นิยม อ้างคำพูดของนายซูนัค ที่ยอมรับว่า ช่วงเวลาต่อจากนี้จะเป็นช่วงที่ยากลำบาก แต่ปฏิเสธว่า จะไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าแน่นอน แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านจะโต้เถียงว่า นายซูนัคไม่มีฉันทามติของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม
นายซูนัค เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ตามหลังนางเทรีซา เมย์ นายบอริส จอห์นสัน และนางทรัสส์ ที่ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี นางเมย์ และนายจอห์นสัน เคยชนะการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้ว ในปี 2017 และปี 2019 ตามลำดับ
ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปจะยังไม่มีไป อย่างช้าสุดจนกว่าจะถึงเดือน ม.ค. ปี 2025 และตามหลักแล้ว นายซูนัคไม่มีพันธะใด ๆ เพื่อประกาศจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าตามระบบการเลือกตั้งรัฐสภาสหราชอาณาจักร
เส้นทางการเมือง
นายซูนัคเป็น ส.ส. สมัยแรกเมื่อปี 2015 ในเขตเลือกตั้งริชมอนด์ของมณฑลนอร์ทยอร์กเชียร์ โดยไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนมากนัก
ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็น รมช.คลัง ในรัฐบาลของนางเทรีซา เมย์ และดำรงตำแหน่งอีกครั้งในรัฐบาลนายบอริส จอห์นสัน เมื่อเดือน ก.ค. 2019 เพื่อตอบแทนที่เขาให้การสนับสนุนนายจอห์นสันอย่างแข็งขัน

กระทั่งเดือน ก.พ. 2020 เขาได้รับการขยับชั้นขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากนายซาจิด จาวิด ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเพราะปัญหาความขัดแย้งกับที่ปรึกษาของนายจอห์นสัน แต่แล้ว นายซูนัคก็ลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า แนวทางการบริหารเศรษฐกิจของตัวเองแตกต่างจากของนายกฯ จอห์นสันมากเกินไป ในขณะที่นายจอห์นสันเผชิญมรสุมเรื่องการโกหกบ่อยครั้งต่อสภา
นอกจากบทบาทในสภาและในรัฐบาล นายซูนัคมีส่วนสำคัญในการรณรงค์ให้ประชาชนลงมติออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และลงมติสนับสนุนข้อตกลงเบร็กซิทของนางเมย์ทั้ง 3 ครั้งที่ถูกนำเข้าสภา
พื้นฐานครอบครัว
นายซูนัคเกิดที่เมืองเซาแธมป์ตัน สหราชอาณาจักร ในปี 1980 โดยพ่อแม่ของเขาซึ่งเป็นคนเชื้อสายอินเดีย อพยพมาจากแอฟริกาตะวันออก
พ่อของเขาเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ส่วนแม่มีร้านขายยาเป็นของตัวเอง
เขาเข้าเรียนที่วิทยาลัยวินเชสเตอร์ (Winchester College) โรงเรียนเอกชนอายุกว่า 600 ปี และทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเซาแธมป์ตันช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน จากนั้นเขาได้ศึกษาต่อด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด
ในช่วงที่เขาเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขาได้พบกับ อัคชาตา มูรตี บุตรสาวของนารายณ์ มูรตี เศรษฐีพันล้านชาวอินเดีย และผู้ร่วมก่อตั้ง Infosys บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านให้บริการไอที ซึ่งกลายเป็นศรีภรรยาของเขาในเวลาต่อมา โดยทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน

ปี 2001-2004 นายซูนัคเป็นนักวิเคราะห์ในวานิชธนกิจ โกลด์แมนแซคส์ และต่อมาได้ตำรงตำแหน่ง หุ้นส่วนในเฮดจ์ฟันด์ 2 แห่ง
เมื่อเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเข้าสู่โลกการเมือง จึงมีการคาดการณ์กันว่านายซูนัคน่าจะเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่รวยที่สุด แต่เขาไม่เคยพูดถึงความมั่งคั่งของตัวเองอย่างเปิดเผย
ในระหว่างให้สัมภาษณ์บีบีซีเมื่อปี 2019 นายซูนัคเล่าถึงภูมิหลังของตัวเองไว้ว่า “พ่อแม่ของผมอพยพมาที่นี่ คุณมีคนรุ่นที่เกิดที่นี่ พ่อแม่ของพวกเขาไม่ได้เกิดที่นี่ พวกเขามาประเทศนี้เพื่อมาสร้างชีวิต”
นักการเมืองรายนี้นับถือศาสนาฮินดู ไม่ดื่มเหล้า และไปวัดทุกสุดสัปดาห์
เขากล่าวว่า เขาโชคดีที่ไม่ได้เผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติมากนักในช่วงที่เติบโต แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่เขาจำได้ไม่เคยลืม
“ผมออกไปข้างนอกกับน้องสาวและน้องชาย ผมน่าจะอยู่ในช่วงวัยรุ่นกลาง ๆ เราไปที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแห่งหนึ่ง และผมก็กำลังดูแลน้อง ๆ อยู่ มีคนที่นั่งอยู่ไม่ไกลพูดคำที่หยาบคายออกมาคือ คำที่ขึ้นต้นด้วยตัวพี (ตัว P มาจากครับว่า Paki ซึ่งในอังกฤษเป็นคำที่ใช้เหยียดคนที่มาจากเอเชียใต้) นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเจอเหตุการณ์เช่นนี้” นายซูนัคกล่าวกับบีบีซีเมื่อปี 2019
Cr : BBC NEWS ไทย