เอเปคกับการบรรลุเป้าหมายด้านพลังงาน

30/09/2022 โดย สำนักงานเลขาธิการเอเปค โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

เอเปคกำลังดำเนินการเพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการเพื่อลดความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (energy intensity) ลงร้อยละ 45 ภายในปี 2035 โดยเทียบกับระดับปี 2005 และเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนสมัยใหม่เป็น 2 เท่าภายในปี 2030 เทียบกับระดับปี 2010 ตามรายงานด้านพลังงานฉบับใหม่

ตามรายงานแนวโน้มอุปสงค์และอุปทานด้านพลังงานของเอเปค (APEC Energy Demand and Supply Outlook) ความเข้มข้นของการใช้พลังงานในภูมิภาคอยู่ในระดับอัตราเฉลี่ยต่อปีที่ 1.9% ตั้งแต่ปี 2005 หรือสะสมที่ร้อยละ 22 ระหว่างปี 2005-2018 ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งมีแนวโน้มในการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยี โครงการและนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป เอเปคจะบรรลุเป้าหมายในการลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานเร็วกว่าที่คาดไว้ 1 ปีในปี 2034

ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน หมายถึง ความต้องการพลังงานของระบบเศรษฐกิจ การลดความเข้มข้นของการใช้พลังงาน หมายถึง การใช้พลังงานน้อยลงในการผลิตสินค้าหรือบริการ

สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่ทันสมัยของเอเปคเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.1 ในปี 2010 เป็นร้อยละ 8.7 ในปี 2018 เอเปคคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็น 2 เท่าก่อนกำหนดในปี 2026 ซึ่งบ่งชี้ว่าสมาชิกเอเปคกำลังเร่งการใช้งานของพลังงานหมุนเวียนขึ้นอย่างมาก

คาซูโตโมะ อิริเอะ (Kazutomo Irie) ประธานศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Energy Research Centre: APERC) รายงานว่า “ความก้าวหน้าที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากความพยายามในการปฏิรูปโครงสร้างและการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานในอุตสาหกรรม การขนส่งและการก่อสร้าง”

คาซูโตโมะ อิริเอะกล่าวเสริมอีกว่า “สมาชิกเอเปคยังเพิ่มการบริโภคโดยตรงของพลังงานหมุนเวียนในภาคส่วนการใช้งานปลายทาง และเพิ่มสัดส่วนของไฟฟ้าที่เกิดจากเทคโนโลยีลมและพลังงานแสงอาทิตย์” เขากล่าวเสริม

ศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิกตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ศูนย์ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 1996 ตามคำสั่งของผู้นำเอเปคเพื่อส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันและแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายด้านพลังงานที่ประเทศสมาชิกเอเปคเผชิญอยู่

ศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิกทำการศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการพลังงานและแนวโน้มอุปทานพลังงานของสมาชิกเอเปคแต่ละประเทศ แนวโน้มอุปสงค์และอุปทานพลังงานในอนาคต การพัฒนาตลาดพลังงานและการตอบสนองต่อความท้าทายด้านนโยบาย

รายงานเน้นย้ำถึงแนวโน้มการแบ่งส่วนที่สำคัญระหว่างความต้องการพลังงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ถึงแม้จะมีผลผลิตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมาก ความต้องการพลังงานขั้นสุดท้ายก็จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประมาณร้อยละ 14 จากปี 2018-2050 การแบ่งส่วน หมายถึง ความพยายามที่ทำเพื่อให้แน่ใจว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจทำได้ด้วยการพึ่งพาพลังงานน้อยลง

“ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นนี้จะสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่า 2 เท่า สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการแบ่งส่วนมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของเอเปคทั้งหมด การแบ่งแยกได้รับแรงหนุนจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนแปลงจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เข้มข้นด้วยคาร์บอนมากขึ้น เช่น ถ่านหินและน้ำมัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตของการใช้พลังงานไฟฟ้า” อิริเอะอธิบาย

ดร.รีเบคก้า สตา มาเรีย (Dr Rebecca Sta Maria) ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขาธิการเอเปค (APEC Secretariat Executive Director) ปราศรัยในงานเปิดตัวรายงาน ณ กรุงโตเกียว โดยเน้นย้ำว่าในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามระดับโลก แต่ผลกระทบดังกล่าวยังสัมผัสได้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะ “ที่ซึ่งชุมชนเสี่ยงหลายพันแห่งได้รับผลโดยตรง จากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว”

ดร.สตา มาเรีย กล่าวเสริมอีกว่า “เป็นที่น่าสนใจว่า ณ นับตั้งแต่รายงานฉบับล่าสุดเผยแพร่ในปี 2019 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ความต้องการพลังงาน อุปทาน การผลิตสินค้า การผลิตไฟฟ้าและการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของภูมิภาคเอเปคมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีเช่นกันที่ได้เห็นว่า เอเปคกำลังผลักดันเป้าหมายที่ทะเยอทะยานในการลดพลังงานและเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนผ่านการปฏิรูปโครงสร้างและโครงการประหยัดพลังงาน”

เอเปคมีปริมาณความต้องการพลังงานของโลกคิดเป็นร้อยละ 56 อุปทานพลังงานระดับโลกร้อยละ 58 และร้อยละ 68 ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก ส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของภูมิภาคเอเปคคิดเป็นร้อยละ 60ของทั่วโลก

ดร.สตา มาเรียกล่าวย้ำและสรุปว่า เอเปคต้องทำงานมากขึ้นเพื่อเร่งความก้าวหน้า และกระตุ้นการใช้ทรัพยากรที่รัฐบาลนำไปใช้เพื่อเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังเกิดโรคระบาดขนาดใหญ่ โดยส่วนหนึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อบูรณาการความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมต่อไปได้ การสนับสนุนการฟื้นฟูที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจของเอเปค

หมายเหตุ

ผู้สนใจรายงานฉบับเต็มของ APEC Energy Demand and Supply Outlook สามารถอ่านได้ที่

เล่มที่ 1 https://www.apec.org/publications/2022/09/apec-energy-demand-and-supply-outlook-(8th-edition)—volume-i

เล่มที่ 2 https://www.apec.org/publications/2022/09/apec-energy-demand-and-supply-outlook-(8th-edition)—volume-ii

อ้างอิง

APEC Secretariat. (30 September 2022). APEC is on Track to Meet Aspirational Energy Goals. Retrieved from https://www.apec.org/press/news-releases/2022/apec-is-on-track-to-meet-aspirational-energy-goals

แปลและเรียบเรียงโดย

นายศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ, นักวิจัยปฏิบัติการ

สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์