การสนับสนุนผู้หญิงกับการความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

7 กันยายน 2022 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย การประชุมว่าด้วยสตรีกับเศรษฐกิจเอเปค

รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาเพื่อเพศสภาพ เศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกเอเปคร่วมกันผลักดันความก้าวหน้าในการเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของสตรีและเด็กผู้หญิง โดยมุ่งเน้นว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน

การประชุมที่กรุงเทพฯ สมาชิกเอเปคเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินนโยบายและความคิดริเริ่มที่ส่งเสริมการฟื้นฟูที่ครอบคลุม เป็นธรรม และยั่งยืนจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าของความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของสตรี

“เราเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปลูกฝังการเสริมสร้างพลังอำนาจและความก้าวหน้าของสตรีและความเท่าเทียมทางเพศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ แผนงาน แผนการดำเนินงาน และเครื่องมืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของเอเปคที่ได้ตกลงร่วมกันในการประชุมครั้งนี้” นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของประเทศไทยกล่าว

ที่ประชุมเอเปคว่าด้วยด้วยสตรีกับเศรษฐกิจ 2022 ให้ความสำคัญของความยั่งยืนของเอเปค โดยประเทศไทยอยู่ในฐานะประธานได้ทำการสำรวจว่าจะสร้างโอกาสผู้หญิงมากขึ้นได้อย่างไร และพวกเธอจะมีส่วนร่วมกับความยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งรวมถึงการมีบทบาทผ่านรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียน (BCG)

นายจุติกล่าวเสริมว่า “ความท้าทายทั้งหมดควรเปลี่ยนเป็นโอกาสได้ มุมมองเรื่องเพศจะต้องถูกนำมารวมไว้ในนโยบาย แผนปฏิบัติการ และงบประมาณของเรา”

“ที่สำคัญ นโยบาย แผนงาน และงบประมาณทั้งหมดต้องได้รับการอนุมัติและดำเนินการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่มีภูมิหลังหลากหลาย ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจะมีโอกาสที่เท่าเทียม และเข้าถึงเงินทุนและตลาดอย่างเท่าเทียม การมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน ตำแหน่งผู้นำ การศึกษา และการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลในโลกที่เปลี่ยนแปลง” นายจุติอธิบาย

นายจุติยังย้ำอีกว่าการเสริมสร้างความร่วมมือและสร้างเครือข่ายเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุน และสมาชิกเอเปคจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยซึ่งส่งเสริมการพัฒนาและการเสริมอำนาจอย่างครอบคลุมสำหรับผู้หญิงทุกคน

อดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม โดยเน้นว่าผู้หญิงเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยและสมาชิกเอเปคอื่น ๆ ทั่วเอเชีย-แปซิฟิกได้อย่างไร แต่พวกเธอยังมีบทบาทสำคัญทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ เขายังย้ำถึงความสำคัญของข้อมูลที่จำแนกเพศ ในขณะที่ประเทศสมาชิกรวมการเสริมอำนาจของผู้หญิงและโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ

“เราจำเป็นต้องทำงานมากขึ้น ในแง่ของการใช้นโยบายที่จะสนับสนุนครอบครัว” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวเสริมอีกว่า “ผู้หญิงมักมีทางเลือกที่ยากลำบากในความก้าวหน้าขแงอาชีพการงาน การสร้างสมดุลกับสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นหน้าที่ของครอบครัว และนั่นเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อความก้าวหน้า นโยบายที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของเด็ก การลาโดยได้รับค่าจ้างหรือไม่ได้รับค่าจ้าง และการให้ผู้ชายทำหน้าที่รับผิดชอบในงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างและทำงานบ้านตามความเห็นของผม ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก”

“เมื่อพูดถึงผู้หญิง เรากำลังพูดถึงประชากรประมาณครึ่งหนึ่ง ไม่มีข้อแก้ตัวว่าทำไมความไม่เท่าเทียมหรือมิติแห่งความอยุติธรรมนี้ควรดำเนินต่อไป ผู้หญิงสมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกสมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่า และโลกสมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่า” อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว

“ในฐานะที่เป็นเวทีสนทนา ผู้นำเอเปคต้องการให้เอเปคผ่านแผนปฏิบัติการ Aotearoa เพื่อให้แน่ใจว่าการเติบโตของเรามีคุณภาพสูงและครอบคลุม นำมาซึ่งประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจน สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่เจ้าของและพนักงานของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) รวมถึงผู้หญิงและกลุ่มคนอื่น ๆ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ใช้” ดร. รีเบคก้า สตา มาเรีย (Dr Rebecca Sta Maria) ผู้อำนวยการบริหารของสำนักเลขาธิการเอเปคอธิบาย

ดร.สตา มาเรีย กล่าวเสริมว่า “ในระดับเศรษฐกิจส่วนบุคคล เราจำเป็นต้องปรับใช้และเสริมสร้างแนวทางการกำกับดูแล การกำกับดูแลภาครัฐที่ดี และใช้มาตรการอื่น ๆ ที่สนับสนุนการรวมเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดี ในขณะที่ในระดับส่วนรวม เราจะสร้างตามวาระของเอเปคเพื่อส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจ การเงินและสังคม โดยการพัฒนานโยบายที่ครอบคลุม ความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของสตรี และต่อยอดจากงานของเอเปคในการสนับสนุนการเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของสตรี”

ดร.สตา มาเรียได้สะท้อนถึงความจำเป็นที่ต้องมีกลไกการตรวจสอบที่แข็งแกร่งและเชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่าแผนและนโยบายทั้งหมดได้รับการดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์ในภาคส่วนและระดับต่าง ๆ

ในการหารือ รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้แบ่งปันกลยุทธ์และนโยบายเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจทางเศรษฐกิจของสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการระบาดของโควิด-19 และวิธีการรับประกันความผาสุกของผู้หญิง พร้อมกับการสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

ที่มา

APEC. (7 September 2022). Minister: Women’s Economic Empowerment Boosts Sustainability. Retrieved from https://www.apec.org/press/news-releases/2022/minister-women-s-economic-empowerment-boosts-sustainability

แปลและเรียบเรียงโดย

นายศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ, นักวิจัย

สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์