เอเปคกับการปฏิรูปตลาดการท่องเที่ยว

19 สิงหาคม 2022 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย การประชุมรัฐมตรีการท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11

รัฐมนตรีการท่องเที่ยวจากสมาชิกเอเปคพยายามประสานนโยบายเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางในภูมิภาค ให้มีความปลอดภัย ยั่งยืน มีความรับผิดชอบที่ดีและครอบคลุมมากขึ้น

สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council: WTTC) รายงานว่าอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยวมีสัดส่วนการจ้างงานทั้งหมดในภูมิภาคถึงร้อยละ 11 โดยมีการจ้างงานประมาณ 162 ล้านตำแหน่งในปี 2019 แต่ลดลงในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ลดลงเหลือ 131 ล้านงานในปี 2020 และ 138.7 ล้านงานในปี 2021 ตามลำดับ

“ความเสียหายที่เกิดจากโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคนอย่างเลวร้าย นี่เป็นเรื่องจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดใหญ่” นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทยกล่าว

“อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเราได้ทำงานอย่างหนัก และยังคงทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีสภาพที่ดี เนื่องจากเราเชื่อว่าจุดตกต่ำที่สุดของวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่อยู่ในขณะนี้ได้ผ่านไปแล้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทยกล่าวเปิดงานการประชุมรัฐมนตรีการท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกลับมาสู่เส้นทางเดิมและก้าวไปสู่หนทางที่ดีมากขึ้น” นายพิพัฒน์กล่าวเสริม

แรงหนุนจากการฟื้นตัวครั้งแรกจากการท่องเที่ยวและการเดินทาง ประเทศไทยคาดว่าจะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคนในปี 2022 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากภาคส่วนนี้มีส่วนสนับสนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประมาณร้อยละ 20 ของทั้งหมด

นายพิพัฒน์อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ที่พยายามริเริ่มใหม่และฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อจุดหมายปลายทางและชุมชนในท้องถิ่นด้วย

“สิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด คือ การเปลี่ยนแปลงภาคการท่องเที่ยวให้กลับคืนมา นี่คือ แกนหลักของการประชุมของเราในวันนี้” เขากล่าวเสริม

คณะรัฐมนตรีกำลังพิจารณาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหลายชุด เพื่อให้แน่ใจว่าผลประโยชน์ของการท่องเที่ยวมีการกระจายอย่างเป็นธรรมไปยังชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของพวกเขา

รวมถึงนโยบายอำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและครอบคลุม เคารพในความเป็นท้องถิ่นและประเพณี นโยบายที่ตอบสนองต่อเพศสภาพเพื่อให้มั่นใจว่าผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกันในภาคการท่องเที่ยว และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการการท่องเที่ยวทุกด้าน เช่น กลไกการขอวีซ่าที่คล่องตัว

ดร.รีเบคก้า สตา มาเรีย (Dr Rebecca Sta Maria) จากสำนักเลขาธิการเอเปคกล่าวว่า “กุญแจสำคัญในการทำงานของเราในปีนี้ คือ การรับประกันว่าการเดินทางจะเริ่มต้นใหม่ได้อย่างปลอดภัย”

“แม้การระบาดของโรคระบาดจะค่อย ๆ เข้าสู่สถานะโรคประจำถิ่น แต่การดำเนินการโดยเอเปคจะทำหน้าที่เป็นแนวทางสำคัญในการเตรียมความพร้อม การแลกเปลี่ยนข้อมูล การทำงานเพื่อการทำงานร่วมกันในเรื่องใบรับรองวัคซีน ความคิดริเริ่มและข้อเสนอเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้คนข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะยังคงอยู่กับเรา” เธอกล่าวเสริม

เธอยังกล่าวสรุปอีกว่า “มีสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนได้เรียนรู้จากการระบาดใหญ่ นั่นก็คือ การท่องเที่ยว คือ กุญแจสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคของเรา ดังนั้น การอำนวยความสะดวกให้การเดินทางข้ามพรมแดนกลับมาเป็นปกติได้อย่างปลอดภัยจะยังคงดำเนินต่อไปหลังการระบาดของโควิด-19”

ที่มา

APEC. (19 August 2022). APEC Ministers: Regenerate Tourism Markets. Retrieved from https://www.apec.org/press/news-releases/2022/apec-ministers-regenerate-tourism-markets

แปลและเรียบเรียงโดย

นายศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ, นักวิจัย

สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์