การรับรองความมั่นคงด้านอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเอเปค

26 สิงหาคม 2022 ประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทย การประชุมรัฐมนตรีด้านความมั่นคงทางอาหาร ครั้งที่ 7

รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและอาหารของเอเปคเร่งดำเนินการในระดับภูมิภาคและในระดับประเทศ เพื่อต่อสู้กับความไม่มั่นคงด้านอาหาร โดยการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลและนวัตกรรม ปรับปรุงผลิตภาพ ส่งเสริมความหลากหลาย จัดลำดับความสำคัญของความยั่งยืนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

รายงานล่าสุดโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (United Nation’s Food and Agriculture Organization) ได้ให้ภาพที่น่ากลัว ประชากรทั่วโลก 2.3 พันล้านคนหรือเกือบร้อยละ 30 ทั่วโลกไม่มั่นคงด้านอาหารในปี 2021 ประชากรระหว่าง 702-828 ล้านคนได้รับผลกระทบจากความหิวโหยในปี 2021 และคาดว่าอีกเกือบ 670 ล้านคนจะยังคงขาดสารอาหารภายในปี 2030 นอกจากความท้าทายเหล่านี้แล้ว ผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมของความขัดแย้งในปี 2022 จะมีผลกระทบหลายประการต่อตลาดเกษตรทั่วโลก ทั้งทางการค้า การผลิตและราคา

ท่ามกลางฉากทัศน์นี้ รัฐมนตรีเอเปคได้ประชุมในการประชุมระดับรัฐมนตรีความมั่นคงด้านอาหารประจำปีของเอเปคเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทยเป็นประธาน

“การประชุมของเราในวันนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญและความเกี่ยวข้องของเอเปค ในฐานะเวทีระดับภูมิภาค ซึ่งสมาชิกเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรรายใหญ่ ขณะที่เรายังคงจัดการกับความท้าทายและมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับความไม่มั่นคงด้านอาหารทั่วโลก” นายเฉลิมชัยกล่าว

เขากล่าวเสริมว่า “ความท้าทายด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดความตึงเครียดอย่างมากต่อระบบอาหารของโลก เราจำเป็นต้องปรับงานและเป้าหมายของเอเปคเพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ครอบคลุม และยืดหยุ่น ซึ่งสามารถทนต่อแรงกระทบในอนาคตได้”

นายเฉลิมชัยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาทของสตรี ในฐานะแรงขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาคเกษตรกรรม ตลอดจนความสำคัญของการเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการด้านการเกษตรผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี

เขากล่าวอีกว่า “เราจำเป็นต้องจูงใจผู้คนให้มาทำงานในภาคเกษตรมากขึ้น เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงาน ส่งเสริมนวัตกรรม รวมถึงการวิจัยและพัฒนา เราต้องส่งเสริมความร่วมมือในภาคเกษตรและต้องขยายเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาคเอกชนและชุมชนรากหญ้ามีบทบาทสำคัญในการรับรองความมั่นคงด้านอาหาร”

“องค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนความยั่งยืน คือ การจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพเพื่อลดการสูญเสียในห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการน้ำ การจัดการดิน การจัดการพืช ตลอดจนการจัดการฟาร์ม โดยนำการผลิตที่ขับเคลื่อนด้วยตลาดมาใช้”

การประชุมรัฐมนตรีได้รับรองแผนปฏิบัติการตามแผนงานความมั่นคงด้านอาหาร 2030 (Implementation Plan of Food Security Roadmap Towards 2030) เพื่อนำทางและประสานงานการดำเนินการ โครงการและกิจกรรมเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค

แผนงานความมั่นคงด้านอาหาร 2030 ได้รับการรับรองในปีที่แล้ว และมีเป้าหมายที่จะสร้างระบบอาหารของเอเปคที่เปิดกว้าง ยุติธรรม โปร่งใส มีประสิทธิผล ยั่งยืนและยืดหยุ่น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย ราคาไม่แพง และมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อตอบสนองความต้องการด้านอาหารของพวกเขา และความชอบด้านอาหารสำหรับชีวิตที่กระฉับกระเฉงและมีสุขภาพดี

แผนปฏิบัติการระบุการดำเนินการโดยสมัครใจ ทั้งโดยเฉพาะและการริเริ่มของสมาชิกอาจดำเนินการทั้งแบบรายบุคคลหรือแบบรวม เช่น การนำมาตรฐานข้อมูลระดับโลกสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรมาใช้ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ตลอดจนการปรับปรุงระบบการผ่านแดนสำหรับสินค้าที่เน่าเสียง่าย

ที่มา

APEC. (26 August 2022). Ensuring Food Security is Top Priority for APEC Ministers. Retrieved from https://www.apec.org/press/news-releases/2022/ensuring-food-security-is-top-priority-for-apec-ministers

แปลและเรียบเรียงโดย

นายศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ, นักวิจัย

สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์