เสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2562 เวลา 07.23 น. – เดลินิวส์
สหรัฐและรัสเซียต่างออกจากข้อตกลงระดับทวิภาคี ว่าด้วยการควบคุมการผลิตขีปนาวุธที่ลงนามร่วมกันตั้งแต่ยุคสงครามเย็น “อย่างเป็นทางการ” ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสนอให้มีการเจรจาใหม่โดยมีจีนร่วมด้วย แต่รัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ ว่ารัฐบาลวอชิงตันไม่ขอร่วมเป็นภาคีกับสนธิสัญญาที่รัสเซียเป็นฝ่ายละเมิดอย่างร้ายแรงมาตลอดอีกต่อไป ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อเดือนต.ค. ปีที่แล้ว ว่ารัฐบาลวอชิงตันจะถอนตัวออกจากสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง ( INF ) ที่ลงนามร่วมกับรัฐบาลมอสโกเมื่อปี 2530 ซึ่งเป็นช่วงปลายสงครามเย็นและปลายยุคสหภาพโซเวียต แต่ “ต่อเวลา” ให้กับรัสเซียเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา หากอีกฝ่ายยอมยุติโครงการพัฒนาขีปนาวุธร่อนนำวิถีจากพื้นสู่พื้น ภายใต้รหัส “SSC-8” หรือ “9เอ็ม729”
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียออกแถลงการณ์ตอบโต้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ว่าสหรัฐ “คิดผิดมหันต์” ที่เป็นฝ่ายล้มเลิกสนธิสัญญาฉบับนี้ก่อน ส่งผลให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศถอนตัวออกจากไอเอ็นเอฟบ้างในอีกไม่กี่เดือนต่อมา พร้อมทั้งยืนยันว่าโครงการพัฒนาขีปนาวุธร่อนดังกล่าวไม่ได้ละเมิดสาระสำคัญของข้อตกลง ที่เป็นการห้ามทั้งสองประเทศผลิตและทดสอบขีปนาวุธที่มีพิสัยยิงไกลระหว่าง 500-5,500 กิโลเมตร และทิ้งท้ายว่ารัฐบาลมอสโกไม่ประสงค์การแข่งขันสะสมอาวุธกับประเทศใด ยกเว้นกรณีที่สหรัฐเป็นฝ่าย “เคลื่อนไหวก่อน”
ต่อมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถึงการถอนตัวออกจากไอเอ็นเอฟที่ตอนนี้มีผลอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับทั้งสหรัฐและรัสเซีย ว่าในส่วนของรัฐบาลวอชิงตันนั้น เขาปรารถนาการเจรจาข้อตกลงฉบับใหม่ให้เป็นข้อตกลงไตรภาคีที่มีจีนเข้าร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม นายจาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) กล่าวว่าทรัมป์ใช้จีนเป็น “ข้ออ้าง” ในการถอนตัวออกจากไอเอ็นเอฟมากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าศักยภาพของรัฐบาลในด้านการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ “ยังห่างไกลมาก” จากรัสเซียและสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันครอบครองหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับได้.
เครดิตภาพ : AP
CR:เดลินิวส์